วันศุกร์ที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2552

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ บ้านเชียง จังหวัดอุดรธานี

ประวัติความเป็นมา

ประวัติพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ บ้านเชียง เป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ประเภทแหล่งอนุสรณ์สถานจัดตั้งขึ้นในแหล่งโบราณคดีบ้านเชียง ตั้งอยู่ที่หมู่ที่ 13 ตำบล บ้านเชียง อำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานี ปัจจุบันได้ยกฐานะเป็นเทศบาลตำบลแล้ว พิพิธภัณฑ์แห่งชาติ บ้านเชียงได้จัดแสดงหลักฐานที่ ได้จากการสำรวจขุด ค้น ที่บ้านเชียง และแหล่งโบราณคดีใกล้เคียง อันประกอบด้วยกลุ่มภาชนะดินเผา เครื่องมือ เครื่องใช้และสิ่งอื่นๆอีกมากมาย
จุดเริ่มต้นของการจัดตั้งพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ บ้านเชียง มาจากการพบภาชนะลายเขียนสี เมื่อปี พ.ศ. 2503 โดยชาวบ้านเชียง ต่อมาปี พ.ศ. 2509 ชาวอเมริกัน ได้พบภาชนะดินเผาที่บ้านเชียงโดยบังเอิญจึงนำไปแจ้งที่กรมศิลปากร ปีพ.ศ. 2510 จึงได้มีการขุดค้นอย่างจริงจังเป็นครั้งแรกปี พ.ศ.2515 ได้ขุดค้นเป็นครั้งที่ 2 ในครั้งนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถได้เสด็จทอดพระเนตรแหล่งขุดค้นที่วัดโพธิ์ศรีในพร้อมกับแหล่งอื่นในบ้านเชียง และครั้งสุดท้ายปีพ.ศ. 2517-2518 กรมศิลปากรร่วมกับมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย ได้ร่วมมือขุดค้นและหาข้อมูลใหม่เพิ่มเติม โดยเรียกโครงการนี้ว่า " โครงการ โบราณคดีภาคตะวันออกเฉียงเหนือ " พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติแห่งชาติ บ้านเชียง จึงได้เริ่มจัดตั้งขึ้นมาตั้งแต่ปีพ.ศ. 2518 เป็นต้นมา

พ.ศ. 2524 สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดอุดรธานี ร่วมกับกรมศิลปากร ได้ของบประมาณจากสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล มาสร้างอาคารหลังแรก แต่เนื่องจาก สภาพพื้นที่ยังเป็นที่ลุ่มน้ำท่วมถึงในฤดูฝน นายมีชัย ฤชพันธุ์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้ขอเงินงบประมาณในโครงการเงิน กสช. มาปรับปรุงพื้นที่ให้สวยงาม และพรรคชาติไทยยังได้บริจาคต้นไม้ ไม้ดอก ไม้ประดับให้แก่พิพิธภัณฑ์แห่งชาติ บ้านเชียง ด้วยเช่นกัน

พ.ศ. 2525 ดร. สิปปนนท์ เกตุทัต อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้ของบประมาณสร้างอาคารหลังที่ 2 จากมูลนิธิ จอร์น เอฟ เคเนดี แห่งประเทศไทย และกรมศิลปากรได้มีงบประมาณสนับสนุนด้านครุภัณฑ์ เป็นเงินรวมทั้งสิ้น 6,100,000 บาท เนื่องจากในวโรกาสสมเด็จ พระศรีนครินทราบรมราชชนนีมีพระชนมายุ 84 พรรษา กรมศิลปากร ได้กราบบังคมทูลพระบรมราชานุญาตใช้ชื่ออาคารหลังนี้ว่า "อาคารสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี" ทรงพระกรุณา โปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยานิวัฒนา ทรงเป็นผู้แทนพระองค์เสด็จทรงเปิดพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ บ้านเชียง ในวันเสาร์ที่ 21 พฤศจิกายน 2530

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ บ้านเชียง ปัจจุบันมีพื้นที่เพิ่มขึ้นเป็น 25 ไร่ คือ บริเวณพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ บ้านเชียง หลุมขุดค้นทางโบราณคดีวัดโพธิ์ศรีใน และบ้านไทพาน ด้วยเหตุผลที่คนบ้านเชียงยุคก่อนประวัติศาสตร์ ได้มีหลักฐาน ชีวิตความเป็นอยู่ ที่บ่งบอกถึงวัฒนธรรมของคนยุคนั้น ให้คนรุ่นหลังได้เรียนรู้เป็นอย่างดี คณะกรรมการมรดกโลกได้ร่วมกันตกลงยอมรับให้ขึ้นบัญชี " แหล่งวัฒนธรรมบ้านเชียง "ไว้เป็นแหล่งหนึ่งในบรรดามรดกโลก เป็นอันดับที่ 4 ของประเทศไทย และเป็นอันดับที่ 359 ของโลก เมื่อปี พ.ศ. 2535




การจัดแสดง

พิพิธภัณฑ์แห่งชาติ บ้านเชียง ได้แบ่งการจัดแสดงออกเป็นหัวข้อใหญ่ๆ ดังนี้ 1.การจัดแสดงสมัยก่อนประวัติศาสตร์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่อาคารสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล 2.การจัดแสดงสมัยก่อนประวัติศาสตร์วัฒนธรรมบ้านเชียงที่อาคารสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี
แบ่งการจัดแสดงตามอาคารดังนี้

1.อาคารสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล
อาคารสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล จัดแสดงสมัยก่อนประวัติศาสตร์ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แบ่งตามห้องจัด แสดง ดังต่อไปนี้

ห้องที่ 1จัดแสดงขั้นตอนการสำรวจและขุดค้นทางโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์มีลำดับขั้นตอนดังนี้
1.1การเตรียมการและการสำรวจ เริ่มตั้งแต่การจัดทำโครงการ การหาทุน การสำรวจข้อมูลเบื้องต้น หาสำรวจภาคสนาม การสัมภาษณ์บุคคลในท้องถิ่น การเก็บตัวอย่างโบราณวัตถุ เป็นต้น
1.2เทคนิคและการขุดค้นจะถูกกำหนดขึ้นตามสภาพของแหล่งโบราณคดี การบันทึกข้อมูล ถ่ายภาพ วาดภาพ ซ่อมสงวนโบราณวัตถุ เป็นต้น
1.3การศึกษา วิเคราะห์และวิจัย นักโบราณคดีไม่ได้เชี่ยวชาญหมดทุกเรื่องเสมอไป จึงต้องได้รับความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญหลายด้าน เช่น นักธรณีวิทยา นักมานุษยวิทยา นักสัตววิทยา นักวิทยาศาสตร์ และผู้เชี่ยวชาญด้านอื่นๆ เมื่อผลการศึกษาเป็นที่รู้แล้ว นักโบราณคดีจะนำมาประกอบและร่วมพิจารณาตีความ ตั้งสมมุติฐานหรือสรุปต่อไป
1.4การเสนอรายงาน ผลได้จากการสรุปข้อมูลต่างๆ ตั้งแต่เบื้องต้นจนถึงขั้นสมบูรณ์ จะต้องนำออกมาเผยแพร่ และจัดแสดงในรูปแบบต่างๆ
ห้องที่ 2 สมัยก่อนประวัติศาสตร์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ด้วยความมีพื้นที่กว้างขวาง มีแม่น้ำสำคัญหลายสาย การตั้งหลักแหล่งของคนจึงกระจัดกระจายไปตามลุ่มน้ำต่างๆ ดังจะเห็นว่าได้พบเครื่องมือหินกะเทาะที่เก่าแก่ที่สุดดที่จังหวัดเลย มุกดาหาร และได้พัฒนาเครื่องมือมาเป็นโลหะสำริด จากหลักฐานการขุดค้นที่บ้านโนนนกทา อ. ภูเวียง จังหวัดขอนแก่นหรือที่บ้านเชียง อำเภอหนองหาน จ. อุดรธานีทั้งสองแหล่งกำหนดอายุได้ 5000 กว่าปีมาแล้ว นับเป็นจุดเริ่มต้นของจุดสำริดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ต่อมาประมาณ 2700 ปีมาแล้ว คนยุคก่อนประวัติศาสตร์เริ่มมีการนำเหล็กมาใช้เป็นเครื่องมือแทนสำริด ส่วนเครื่องประดับยังคงนิยมทำด้วยสำริดอยู่บ้าง ช่วงระยะหลังต่อมา การตั้งถิ่นที่อยู่มักจะตั้งถิ่นฐานตามลำน้ำ ทั้งนี้อาจเป็นเพราะการขยายพื้นที่การเพาะปลูกมากขึ้นนั่นเอง การค้นพบโบราณวัตถุมักจะพบในแหล่งสกลนคร ซึ่งมีแม่น้ำสงครามและลำน้ำสาขา เป็นแหล่งสำคัญ นอกจากนี้ยังกระจายไปถึงแอ่งโคราช ซึ่งได้พบจากหลักฐานการขุดค้นที่บ้านธารปราสาท อ. โนนสูง จ. นครราชสีมา
ห้องที่ 3การจัดแสดงโบราณคดีก่อนประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมบ้านเชียง จากบ้านนาดี ต. พังง ูอ. หนองหาน จ. อุดรธานี จากบ้านนาโก ต.ศรีฐาน อ. ภูกระดึง จ. เลย และจากจังหวัดหนองคาย
ห้องที่ 4การจัดแสดงโบราณคดีก่อนประวัติศาสตร์ จากบ้านธารปราสาท อ. โนนสูง จ.นครราชสีมา
ห้องที่ 5การจัดแสดงโบราณคดีก่อนประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมบ้านเชียง จากหลายแหล่งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เช่นที่ จังหวัดอุดรธานี และแหล่งโบราณคดีใกล้เคียง
2.อาคารสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี
อาคารสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี จัดแสดงสมัยก่อนประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมบ้านเชียง แบ่งการจัดแสดงออกตามห้องดังต่อไปนี้
ห้องที่ 1ห้องโลหะกรรม
จัดแสดงเกี่ยวกับการขุดค้นทางโบราณคดีบ้านเชียง และเรื่องราวของการทำสำริดและเหล็ก รวมถึงแหล่งแร่โบราณตามแหล่งต่างๆด้วย
ห้องที่ 2 ห้องเครื่องปั้นดินเผา เป็นห้องที่จัดแสดงเรื่องราวเกี่ยวกับเครื่องปั้นดินเผา การกำหนดอายุลักษณะเครื่องปั้นดินเผาแบบต่างๆ ภาชนะดินเผากับประเพณีการฝังศพ ตลอดจนเทคนิคการผลิตภาชนะดินเผาที่บ้านเชียง
ห้องที่ 3 ห้องบ้านเชียง การค้นพบสำริดที่สาบสูญ เป็นนิทรรศการที่จัดขึ้นเป็นครั้งแรกที่ประเทศสหรัฐอเมริกาเมื่อปีพ.ศ. 2525-2529 แสดงผลการสำรวจขุดค้นและศึกษา วิจัย หลักฐานทางโบราณคดี ที่ได้จาการขุดค้นร่วมกันระหว่างกรมศิลปากรและมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา ที่บ้านเชียง เมื่อปีพ.ศ. 2517-2518
ห้องที่ 4ห้องบ้านเชียงวันนี้ เป็นการรวบรวมข้อมูลและวัตถุพื้นบ้านของชาวบ้านเชียงในปัจจุบัน ซึ่งมีบรรพบุรุษเป็นชาวพวน มาจากเมืองเชียงขวาง ประเทศลาว มาตั้งถิ่นฐานที่บ้านเชียงตั้งแต่ต้นกรุงรัตนโกสินทร์หรือเมื่อประมาณ 200ปีมาแล้วซึ่งเดิมมีอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลัก แต่เมื่อมีการขุดพบโบราณคดีที่บ้านเชียง สังคมและการดำรงชีวิตส่วนหนึ่งได้เปลี่ยนแปลงไป
แหล่งขุดค้นทางโบราณคดีวัดโพธิ์ศรี

ในแหล่งโบราณคดีวัดโพธิ์ศรีใน ห่างจากพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ บ้านเชียงไปทางทิศตะวันออกประมาณ 500 เมตร เป็น1ในหลายแห่งที่ขุดค้นทางโบราณคดีที่บ้านเชียง แหล่งนี้ได้ขุดค้นเมื่อปีพ.ศ.2515 เป็นหลุมขุดค้นที่จัดอยู่สมัยปลายของวัฒนธรรมบ้านเชียง มีอายุระหว่าง 2300-1800 ปีมาแล้ว สมัยนี้ภาชนะดินเผาจะเขียนลายพื้นสีแดงบนลายสีนวลเขียนลายสีแดงบนพื้นสีแดง และฉาบด้วยน้ำดินสีแดงแล้วขัดมัน ส่วนด้านโลหะกรรม ยุคนี้รู้จักการนำเหล็กมาใช้ได้แล้ว ส่วนสำริดถึงแม้จะพบทำเป็นเครื่องใช้น้อยลง แต่ยังคงทำเป็นเครื่องประดับที่พัฒนาด้านความประณีต และสวยงามมากกว่าทุกสมัย
บ้านไทพวน

บ้านไทพวน อยู่ห่างจากพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ บ้านเชียงไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ประมาณ 700 เมตร เดิมป็นบ้านของนายพจน์ มนตรีพิทักษ์ มอบให้กรมศิลปากร เนื่องจากพื้นที่แห่งนี้เป็นโบราณสถาน และได้มีการขุดค้นตาม หลักวิชาการทางโบราณคดี ได้พบโบราณวัตถุเป็นจำนวนมาก เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2515 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและ สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถได้เสด็จมาเยือนแหล่งโบราณคดีนี้ ทั้งสองพระองค์ได้เสด็จประทับบนบ้านหลังนี้ ได้ทรงถามทุกข์-สุข ของนายพจน์ มนตรีพิทักษ์ และครอบครัว ทรงถามถึงชีวิตความเป็นอยู่แบบ "คนไทพวน" เช่น กินอยู่ อย่างไร ห้องครัวทำอย่างไร ห้องน้ำใช้อย่างไร สวนครัวปลูกอะไรบ้าง จนทำให้ นายพจน์ มนตรีพิทักษ์ซาบซึ้งใน พระมหากรุณาธิคุณ ต่อมาจึงได้มอบบ้านและที่ดินหลังนี้ ให้กรมศิลปากรเป็นผู้อนุรักษ์เอาไว้ให้อนุชนรุ่นหลังได้ศึกษา เนื่องจาก บริเวณแห่งนี้มีเนื้อที่ค่อนข้างคับแคบ ไม่สะดวก ต่อมาผู้มาเยือน นางนิภาภรณ์ กลางพรหม จึงได้มอบที่ดินที่อยู่ติดกันให้ แก่กรมศิลปากรมีเนื้อที่ประมาณ 41 ตารางวา รวมกับพื้นที่ทั้งหมดได้ประมาณ 275 ตารางวา ปัจจุบันอยู่ในความรับผิด ชอบ ของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ บ้านเชียง กำลังจะพัฒนาการจัดแสดงวัฒนธรรม " แบบไทพวน " ไว้ในอาคารดังกล่าว บริเวณบ้านไทพวนจะปลูกต้นไม้ พืชผักสวนครัว รั้วบ้าน กินได้ ให้เข้ากับวิถีชีวิตแบบท้องถิ่น ไทพวน


โบราณวัตถุที่สำคัญ



วัตถุ ภาชนะดินเผา มีเชิง สีดำ ปากบาน ลายขูด ชำรุด กะเทาะ
ชนิด ดินเผา
ขนาด สูง 36.3 เซนติเมตร ปากกว้าง 44 เซนติเมตร
เลขวัตถุ 350/2530






วัตถุ ภาชนะดินเผา มีเชิง ปากตัด สีดำ ลายขูด มีสันนูนหยักกลางใบ
ชนิดดินเผา
ขนาดสูง 18 เซนติเมตร ปากกว้าง 16.3 เซนติเมตร
เลขวัตถุ 421/2530








วัตถุ ภาชนะดินเผา สมัยก่อนประวัติศาสตร์ มีเชิง ตัวป่อง สีดำ ปากแคบ มีลายขีดเป็นเส้น ชำรุด ตัวแตกต่อไว้
ชนิด ดินเผา
ขนาด สูง 12.7 เซนติเมตร ปากกว้าง 11.8 เซนติเมตร
เลขวัตถุ 98/2530







วัตถุ วัตถุ ภาชนะดินเผา สมัยก่อนประวัติศาสตร์ ทรงสูง ระหว่างเชิงและก้น มีลายสันนูน ลายเขียนสีแดงทั้งใบ เป็นลายคล้ายลายเรขาคณิต ชำรุด เชิงแตกต่อไว้ ปากแตกต่อไว้
ชนิด ดินเผา
ขนาด สูง 39 เซนติเมตร ปากกว้าง 23.5 เซนติเมตร
เลขวัตถุ 145/2525










วัตถุ ภาชนะดินเผา สมัยก่อนประวัติศาสตร์ มีเชิงสูง ปากเป็นสี่เหลี่ยม ที่เชิงมีลายขูด สีดำ
ชนิด ดินเผา
ขนาด -
เลขวัตถุ 36/2530


วัตถุภาชนะดินเผา สมัยก่อนประวัติศาสตร์ ลักษณะคล้ายกาน้ำ มีที่จับตรง ส่วนปลายแหลม ชำรุด ที่ตัวแตก ที่จับหัก
ชนิด ดินเผา
ขนาดสูง 16 เซนติเมตร ปากกว้าง 23 เซนติเมตร
เลขวัตถุ 97/2530
การบริการ

จำหน่ายบัตรเข้าชม
ตั้งอยู่ที่ประตูทางเข้าพิพิธภัณฑ์บ้านเชียง

ค่าธรรมเนียมการเข้าชม
ชาวไทย 30 บาท
ชาวต่างประเทศ 150 บาท
นักบวช นักเรียน นักศึกษาในเครื่องแบบ ไม่เสียค่าเข้าชม

วัน - เวลา เปิดทำการ
เปิดทำการทุกวัน ไม่มีวันหยุด
เริ่มเวลา 8.30 น. - 17.00 น.
ติดต่อได้ที่ ( 042 ) 208340
โทรสาร ( 042 ) 208341

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น