วันอังคารที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2552

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง

ประวัติความเป็นมา


พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง ตั้งอยู่ริมคูเมืองอู่ทอง ถนนมาลัยแมน อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี มีพื้นที่ 25 ไร่ อยู่ใกล้กับที่ว่าการอำเภออู่ทอง ห่างจากตัวจังหวัดสุพรรณบุรีประมาณ 30 กิโลเมตร สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้เสด็จทอดพระเนตรเมืองโบราณท้าวอู่ทองเมื่อ พ.ศ. 2446 พบว่าเป็นเมืองโบราณรุ่นเดียวกับนครปฐม ต่อมาพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จทอดพระเนตรเมืองโบราณอู่ทองในปี พ.ศ. 2456 และโอนงานให้กรมศิลปากรดูแลรับผิดชอบ ประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานของชาติเมื่อวันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2478 จึงได้สร้างอาคารพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง ขึ้นชั่วคราวในปี พ.ศ. 2500 ทำการสำรวจขุดแต่งโบราณสถานในปี พ.ศ. 2504 ได้พบสถูปเจดีย์และโบราณวัตถุสมัยทวารวดีจำนวนมาก ต่อมาได้สร้างพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง อย่างถาวรในปี พ.ศ. 2508 เพื่อจัดแสดงโบราณวัตถุที่พบดังกล่าว

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลที่ 9 พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2509


การจัดแสดง


อาคารที่ 1 จัดแสดงอารยธรรมเมืองอู่ทองสมัยก่อนประวัติศาสตร์ถึงสมัยประวัติศาสตร์วัฒนธรรมทวารวดี (พุทธศตวรรษที่ 5 - 16) ซึ่งเคยเป็นเมืองท่าติดต่อค้าขายกับชาวต่างชาติ รับรูปแบบศาสนา ศิลปะแบบอมราวดีและแบบคุปตะจากอินเดียและศิลปะศรีวิชัยจากภาคใต้ เป็นศูนย์กลางของศาสนาพุทธและศาสนาพราหมณ์ โบราณวัตถุที่จัดแสดงได้แก่ เครื่องมือหินขัด แวปั่นด้านดินเผา ภาชนะดินเผา ลูกปัดแก้ว เหรียญกษาปณ์ เหรียญสมัยจักรพรรดิวิคโตรินุส ประติมากรรมดินเผารูปพระสงฆ์ 3 องค์อุ้มบาตร และพระพุทธรูปปูนปั้นนาคปรกศิลปะแบบอมราวดี ธรรมจักร จารึกแผ่นทองแดง เศียรพระพุทธรูปทองคำ พระพุทธรูปปางประทานธรรมและพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร ฯลฯ

อาคารที่ 2 จัดแสดงประวัติศาสตร์เมืองอู่ทองในสมัยอยุธยา พุทธศตวรรษที่ 20 - 24 การบูรณะซ่อมแซมเจดีย์หมายเลข 1 ในสมัยพระเจ้าปราสาททองแห่งกรุงศรีอยุธยา (พ.ศ. 2173 - 2178) โบราณวัตถุที่จัดแสดง ได้แก่ พระพุทธรูป พระพิมพ์ ขันสำริด ครอบเต้าปูนสำริด กังสดาล และกระปุกลายครามของจีน ฯลฯ

อาคารที่ 3 เป็นสถาปัตยกรรมเรือนลาวโซ่ง จัดแสดงขนบธรรมเนียม ประเพณี เครื่องมือ เครื่องใช้และการทอผ้า















โบราณวัตถุที่สำคัญ







เหรียญโรมัน เส้นผ่านศูนย์กลาง 2 เซนติเมตร สมัยโรมัน ทำจากทองแดง พบบริเวณเมืองเก่าอู่ทอง











เหรียญเงินมีตราปูรณะกลศ (หม้อน้ำ) เส้นผ่านศูนย์กลาง 2.8 เซนติเมตร
ศิลปะทวารวดี ทำจากเงิน พบบริเวณเมืองอู่ทอง











เหรียญรูปพระอาทิตย์อุทัย เส้นผ่านศูนย์กลาง 3.1 เซนติเมตร สมัยฟูนัน ทำจากตะกั่ว พบบริเวณเมืองอู่ทอง








หม้อดินเผา ปากกว้าง 12 เซนติเมตร สูง 13.1 เซนติเมตร สมัยก่อนประวัติศาสตร์ ทำจากดินเผา พบบริเวณเมืองอู่ทอง









ตราดินเผา เส้นผ่านศูนย์กลาง 4.5 เซนติเมตร สมัยฟูนัน พุทธศตวรรษที่ 9 - 10 ทำจากดินเผา พบบริเวณเมืองอู่ทอง










แผ่นทองแดงจารึกอักษร กว้าง 28 เซนติเมตร ยาว 42 เซนติเมตร ศิลปะทวารวดี ทำจากทองแดง พบบริเวณเมืองอู่ทอง









ประติมากรรมดินเผารูปพระสงฆ์ 3 องค์อุ้มบาตร กว้าง 20 เซนติเมตร สูง 16 เซนติเมตร ศิลปะอมราวดี พุทธศตวรรษที่ 5 - 9 ทำจากดินเผา พบบริเวณเมืองเก่าอู่ทอง อ. อู่ทอง จ. สุพรรณบุรี










พระเศียรพระพุทธรูปทองคำ กว้าง 4 เซนติเมตร สูง 5.3 เซนติเมตร ศิลปะทวารวดี พุทธศตวรรษที่ 11 - 16 วัสดุที่ทำจากทองคำ พบบริเวณเจดีย์หมายเลข 2 เมืองอู่ทอง










พระเศียรพระพุทธรูปดินเผา กว้าง 13.5 เซนติเมตร สูง 18 เซนติเมตร ศิลปะทวารวดี พุทธศตวรรษที่ 11 - 16 ทำจากดินเผา พบที่เจดีย์หมายเลข 5 เมืองอู่ทอง









การบริการ

ที่ตั้งพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง
ถนนมาลัยแมน อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี 72160
โทรศัพท์ / โทรสาร (035) 551-040
วันทำการ
เปิด : วันพุธ - วันอาทิตย์ เวลา 8.30 - 16.00 น.
ปิด : วันจันทร์ วันอังคาร และวันหยุดนักขัตฤกษ์
ค่าธรรมเนียมเข้าชมชาวไทย 30 บาทชาวต่างชาติ 150 บาท

































































































































































































































































ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น